– -หุ้นฟรี!เมืองทอง ยูไนเต็ด

หุ้นฟรี!เมืองทอง ยูไนเต็ด

                สัปดาห์ที่ผ่านมามีหลากหลายเหตุการณ์ใกล้ตัวเกิดขึ้นมากจนทำให้ผมต้องยกหูโทรศัพท์ไปกองบรรณาธิการขออนุญาตปรับ “โพสิชั่นนิ่ง” ของคอลัมน์นี้นะครับ

                จากเดิม “ฟรีสไตล์จากอังกฤษ” ในมุมเรื่องราวข่าวสารในบรรยากาศแบบอังกฤษ ปรับเป็นทุกเรื่องใกล้ตัวผม แต่ยังเป็นมุมมอง “เปรียบเทียบ” ระหว่างไทย – เทศ (อังกฤษ) อยู่ดีตามประสบการณ์ที่ตัวเองก็เคยอยู่แดนผู้ดีมานานเกือบ ๆ 10 ปี

                ทั้งนี้เพราะตัวเองต้องยอมรับครับว่า ได้กลับมาเมืองไทย และตัดสินใจแน่นอนแล้วเที่ยวนี้ว่า จะอยู่เมืองไทยแน่ ๆ หางานมั่นคงทำ, ซื้ออสังหาฯ และไม่เปลี่ยนใจกลับไป/กลับมา เดี๋ยวกรุงเทพฯ – เดี๋ยวลอนดอน อีกแล้ว

                ไว้วันหลังค่อยมา “แทรก” เล่าเรื่องงานที่กำลังทำ/เรื่องเรียนที่ได้ลงทุนลงแรงศึกษาให้ฟังแล้วกันนะครับ เอาเป็นว่า สนุกแน่ใน “มิติ” ที่ยังหนีไม่พ้นเรื่องกีฬา ๆ นะครับ

                เข้าเรื่องเลยดีกว่า ช็อกแรก! คือ ข่าวคุณระวิ โหลทองประกาศพร้อมปล่อยหุ้นสโมสรเมืองทอง หนองจอก ยูไนเต็ด แบบไม่คิดมูลค่าให้คน, กลุ่มคณะบุคคล หรือองค์กร เข้ามาบริหารแทน

                ที่น่าสนใจคือ สโมสรเมืองทองฯ ถูกลงทุนไปแล้วหลายร้อยล้านบาท และมูลค่าทางการตลาด เอาแค่ “แบรนด์” เมืองทองฯ หากคิดเป็นเงินไทยก็คงจะมีแตะ ๆ 500 ล้านบาทจริงเหมือนที่ “พี่เป้” รณฤทธิ์ ซื่อวาจา ได้กระซิบกับผมผ่านหูโทรศัพท์

                “โอ๊ย…พี่รับสายเรื่องนี้สัก 1 พันสายได้แล้วมั๊ง” เสียงปลายทางจากผู้จัดการทั่วไปสโมสรกิเลนผยอง กล่าวกับผม

                จากนั้นเราก็แลกเปลี่ยนมุมมองอะไรอีกหลายอย่างในหลาย ๆ ฐานะที่รู้จักกันไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สัก 10 กว่าปีก่อนที่ “พี่เป้” ดูแลคณะทัวร์ไปดูฟุตบอลที่อังกฤษเป็นกรุ๊ปแรก ๆ ของประเทศไทยผ่านบริษัทออร์กาไนเซอร์ “คอร์โน แอนด์ แนช” หนึ่งในบริษัทในเครือของค่ายสยามสปอร์ต โดยตอนนั้นผมยังเรียน/ทำงาน อยู่ที่โน่น

                พอกลับเมืองไทย ผมก็มารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดด้านกีฬาที่ทรูวิชั่นส์ ตำแหน่งที่ “พี่เป้” เคยทำก่อนจะย้ายไป “คอร์โนฯ” และมาดูเมืองทองฯ เต็มตัวในปัจจุบัน

                ใครคือ ผู้เหมาะสมจะมาแทนที่คุณระวิ? หรือเข้ามาบริหาร หรือทำทีมฟุตบอล (นอกสนาม)?

                ตอบ: คนที่รักฟุตบอล รักกีฬาแบบบริสุทธิ์ใจ และเป็นคนที่พร้อมครับ

                คนที่พร้อมคือคนแบบไหน?

                ตอบ: ฐานะการเงินต้องดี, มีเหลือ และต้องเข้าใจเกมฟุตบอล และอุตสาหกรรมฟุตบอลว่า “วงการ” นี้จะให้อะไรกับคุณ และคุณจะต้องคืนอะไรกับทีม หรือสังคม

                สำคัญอีกข้อคือ ฟุตบอลเป็น “emotional game” ดูแล้วอิน ดูแล้วซึ้ง ดูแล้วเศร้า ดูแล้วสนุก ดูแล้วเครียด ดูแล้วคาดเดาไม่ได้ ดูแล้วนอนไม่หลับ ฯลฯ และฯลฯ

                ผมพูดกับใครเสมอ ๆ ว่า “ชวนผมไปเตะบอลสนุก ๆ ผมไม่มีปัญหา” แต่ชวนผมไปดูบอลทีมโปรด เช่น ตอนนี้มี 2 ทีม: แอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด และแบงค็อก ยูไนเต็ด

                ผมต้องพร้อมก่อนทั้งกาย และใจ!!!

                เชื่อไหมครับ ไปดู บียู เอฟซี (แบงค็อก ยูไนเต็ด) เตะแล้วแพ้ หรือเสมอแบบน่าชนะที่สนาม ม.กรุงเทพ รังสิต แล้ว ผมต้องขับรถไปจอดสงบนิ่งจิตใจตัวเองหน้าห้องน้ำในปั๊มแถวสนาม ๆ ครึ่งค่อนชั่วโมง

                พอกลับบ้านแล้วก็มักนอนไม่หลับ เพราะเลือดมันยังสูบฉีดอยู่พร้อมคำถามแนว “อยุติธรรม” มากมายเกี่ยวกับการตัดสินของกรรมการ, โชคชะตาฟ้าดินไม่เข้าข้าง ฯลฯ

                แต่นี่คือ “เสน่ห์” ของฟุตบอลครับ เสน่ห์ที่คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า เพราะคนนอกก็เห็นว่า “รายได้” เหมือนกับจะเยอะ

                “ชื่อเสียง” ในฐานะที่ไปเกี่ยวข้องกับสโมสรก็มากเสมือนได้ “พีอาร์” ตัวเอง หรือ “หาเสียง” ไปในตัว แต่หากทีมผลงานไม่ดี

                ชื่อเสียง หรือการหาเสียงก็จะ “ติดลบ” เป็นตรงกันข้ามนะครับ

                ดังนั้น “รายได้” ที่เข้ามาในอุตสาหกรรม 4 ทางอันประกอบไปด้วย 1.ค่าตั๋วเข้าชม, 2.ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดทีวี (จาก “ทรูวิชั่นส์”), 3.ค่าสิทธิประโยชน์จากสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน และ 4.ค่าขายของที่ระลึก ก็ต้องมีการแปรผันไป “บำรุงทีม”

                บำรุงทีมอย่างไร?

                ซื้อนักเตะดีเข้ามาด้วยราคาแพง, ค่าเหนื่อยสูง และต้องปรับปรุงสาธารณูปโภคสำหรับทีม เช่น สนาม, อัฒจรรย์ หรือต่อไปก็ต้องมีข่าวการลงทุนกับสถาบันฝึกสอนฟุตบอล หรือ Academy กันมากขึ้น

                รายรับมากแค่ไหน ก็ต้องจ่ายมากแค่นั้น เพื่อ “รักษา” ความสำเร็จในสนามให้ยั่งยืนต่อไป หากไม่ทำ ไม่จ่าย ไม่ได้นักเตะดี ๆ เข้ามาในทีม

                ทีมอื่นกลับมาคว้าตัวไป หรือมาซิวนักเตะเอกของตัวเองไป ทีมของตัวเองก็จะฟอร์มตก แฟนบอลหาย สปอนเซอร์หด รายได้ลด

                เป็น “วัฎจักร” อุบาทว์เช่นนี้ไม่รู้จบ

                อย่างไรก็ดี “จ่ายเยอะ” หรือพร้อมมากก็ใช่ว่าจะเป็นบัญญัติไตรยางศ์ไปสู่ความสำเร็จ ไม่เชื่อลองดูผลงานของ บางกอกกล๊าซในตอนนี้ดู

                หรือตัวอย่างใกล้ตัวผมคือ แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่เรามีรายจ่ายไม่น้อยกว่าทีมบิ๊ก ๆ ในปีก่อน หรือไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อเดือน แต่เรากลับตกชั้นจากไทยพรีเมียร์ลีก

                วกมาที่สโมสรเมืองทองฯ อีกครั้ง ใครก็ตามที่เข้ามาต้อง “ต่อยอด” การเป็นสโมสร “ตัวอย่าง” ในแง่บริหาร และจัดการจากที่คุณระวิได้ทำไว้ให้ได้

                แน่นอนว่า “กุศโลบาย” ที่ดีคือ สโมสรต้องสามารถจัดสรรเรื่องการเงินได้ด้วยตัวเอง แต่หากได้เจ้าของรวย, เจ้าของที่มีคอนเนกชั่นมาก และเข้าใจว่า “บาลานซ์ชีต” หรือบัญชีงบดุลสโมสรต้องติด “ตัวแดง” หรือทำ “บาลานซ์” ได้ก็เก่งแล้ว

                ไม่ใช่ “ตัวดำ” เยอะ ๆ แล้วจ้องจะ “ปันผล” เม็ดเงินนั้น

                หรือไม่ได้มี “พรีเซนเตชั่น” ระดับเทพพร้อม “โมเดล” การตลาด และการทำทีมระยะสั้น/ยาวพร้อมการบริหารที่คำนึง “หัวใจ” ลูกค้าซึ่งก็คือ “แฟนบอล”

                หรือไม่ได้มีแผนสร้างเยาวชนที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่นับรวมโปรเจคต์เอื้อมฟ้าคว้าดาว “เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก” มาโชว์ให้ได้เห็น

                ผมคิดว่า ท่านประธานสโมสรเมืองทองฯ เก็บหุ้นไว้แอบ “กระตุ้น” หัวใจวัยหนุ่มน้อยให้เลือดสูบฉีดเป็นระยะ ๆ เล่น ๆ ดีกว่าครับ

                ปล.เลยไม่มีเวลาได้ “แตะ” เรื่องคุณวรวีร์ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกเลยครับ แต่อยากสรุปว่า ใครก็ตามที่โดนกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐาน และยังไม่มีศาลไหนในโลกตัดสินความผิด…ก็ไม่ควรถูกลงโทษล่วงหน้าว่าเป็น “คนผิด” นะครับ

                                                                ————————————

  1. ยังไม่มีความเห็น
  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น